ติดฟิล์มรถยนต์ยี่ห้อไหนดี ต้องดูอะไรบ้าง ฟิล์มรถยนต์ 2021

ติดฟิล์มรถยนต์ กันแดด กันร้อน ควรเลือกใช้แบบไหน ยี่ห้อไหนดี ฟิล์มรถยนต์ 2021 แบรนด์ไหนน่าใช้บ้าง จะเลือกฟิล์มติดรถยนต์ ฟิล์มกระจกรถ ฟิล์มกรองแสง ฟิล์มกันร้อน ต้องดูยังไง มีราคาเท่าไหร่บ้าง

ฟิล์มรถยนต์ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและมีส่วนช่วยในการดูแลรักษา รถยนต์ โดยเฉพาะภายในห้องโดยสาร เพราะสภาพอากาศในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อน หน้าฝน หรือหน้าหนาว ในเมืองหรือต่างจังหวัด ต่างก็มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือแสงแดดที่ร้อนแรง ซึ่งเป็นตัวเพิ่มอุณหภูมิภายในรถยนต์ และยังมีส่วนทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพเร็วด้วย

ฟิล์มติดรถยนต์มีกี่แบบ

          ในปัจจุบันนี้ ฟิล์มรถยนต์ ที่จำหน่ายตามท้องตลาดนั้นมีให้เลือกหลากหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับราคาที่มีตั้งแต่ถูกไปจนถึงแพงมาก ก่อนจะติดฟิล์มรถยนต์เรามาดูประเภทของฟิล์มกันก่อนว่า ฟิล์มรถยนต์ มีกี่ประเภท แล้วแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

1. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบปกติ (Dyed Window Tints)

          คือ ฟิล์มติดรถยนต์แบบธรรมดาทั่วไป ป้องกันรังสียูวี หรือรังสีอัลตราไวโอเลต ได้ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น ตัวฟิล์มกรองแสงเป็นเพียงแผ่นฟิล์มที่ทำการย้อมสีให้มีความเข้มเพื่อกรองแสงเท่านั้น ฟิล์มชนิดนี้จะสะท้อนแสงจากภายนอกและลดปริมาณความร้อนสะสมได้เพียงเล็กน้อย แต่มีราคาที่ไม่สูงมากนัก จึงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด

          แต่ฟิล์มชนิดนี้ก็มีข้อเสียอยู่ที่เมื่อใช้งานไปสักระยะเวลาหนึ่งสีของฟิล์มจะเริ่มซีดลง และมีโอกาสเกิดรอยขีดข่วน หรือสร้างความเสียหายให้กับกระจกรถของเราได้ เพราะแผ่นฟิล์มเป็นเพียงพลาสติก

2. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบปรอท (Metallized Window Tints)

          ฟิล์มกรองแสงที่มีลักษณะแวววาว ให้การป้องกันรังสียูวี และสะท้อนความร้อนได้ดี ตัวฟิล์มกรองแสงย้อมด้วยสีที่มีส่วนผสมของโลหะ โดยจะมีอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นโลหะฝังอยู่ภายในชั้นของฟิล์ม เพื่อช่วยในการสะท้อนรังสียูวีได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอนุภาคที่ฝังอยู่ในฟิล์มนั้นยังช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับหน้าต่างรถของคุณ และป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่าฟิล์มกรองแสงแบบธรรมดา

          แม้จะสะท้อนแสงแดดและลดความร้อนภายในห้องโดยสารได้ดี แต่ข้อเสียของฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบปรอทที่มีส่วนผสมของโลหะก็คือ จะทำให้อุปกรณ์สื่อสาร เช่น GPS หรือ Easy Pass ใช้งานได้ไม่สะดวกมากนัก

3. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบไฮบริด (Hybrid Window Tints)

          ฟิล์มติดรถยนต์ลูกผสมระหว่างฟิล์มย้อมสีและฟิล์มสีเมทัลไลซ์ที่มีส่วนผสมของโลหะอยู่ในชั้นฟิล์ม ทำให้ฟิล์มชนิดนี้จะมีคุณสมบัติในการกรองแสงได้ดี สีไม่ซีด และยังสามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้อีกด้วย แต่ข้อจำกัดที่ทำให้ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนักคือราคาที่ค่อนข้างสูง

4. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบคาร์บอน (Carbon Window Tints)

          ฟิล์มกรองแสงแบบคาร์บอนเป็นฟิล์มที่มีพื้นผิวด้านเป็นเอกลักษณ์ ภายในเนื้อฟิล์มจะมีส่วนผสมของอนุภาคคาร์บอนสะท้อนแสงพิเศษที่ทนทานแม้จะใช้งานมาอย่างยาวนาน และด้วยอนุภาคคาร์บอนที่ฝังอยู่นั้นนอกจากจะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนได้ดีแล้ว ยังสามารถกักเก็บความร้อนได้ดีเช่นกัน ซึ่งฟิล์มชนิดนี้จะเหมาะกับรถที่ใช้งานในแถบประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ประเทศไทยอาจไม่เหมาะเท่าไรนัก

5. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบเซรามิก (Ceramic Window Tints)

          ฟิล์มติดรถยนต์ที่ได้รับความนิยมอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติป้องกันแสงแดด รังสีต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และลดความร้อนได้สูงถึง 99% สีที่ใช้ในการย้อมตัวฟิล์มนั้นเป็นสีเซรามิกที่ไม่มีส่วนผสมของโลหะ ทำให้ไม่มีผลกับการใช้เครื่องมือที่ใช้สัญญาณวิทยุอีกด้วย

6. ฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบบคริสตัล (Crystalline Window Tints)

          ฟิล์มกรองแสงชนิดนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวเท่าไรนัก เพราะสีของฟิล์มจะมีลักษณะที่ค่อนข้างใส แต่สามารถป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ตัวฟิล์มประกอบด้วยสีหลายชั้นที่เคลือบอยู่

เลือกฟิล์มติดรถยนต์ต้องดูอะไรบ้าง

          สำหรับการเลือกฟิล์มกรองแสงรถยนต์นั้น แน่นอนว่าหลายคนคงจะดูจากคุณสมบัติในการป้องกันความร้อน รองลงมาคงหนีไม่พ้นเรื่องของราคา และความสวยงาม ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายละเอียดอีกเล็กน้อยที่เราควรทราบก่อนจะติดฟิล์มรถยนต์ของคุณ

          – ประเภทและชนิดของฟิล์ม รวมถึงสีที่เลือกใช้ ควรเลือกให้ตรงกับความต้องการของเรา เพื่อให้ได้ฟิล์มรถยนต์ที่ตรงใจเรามากที่สุด เพราะฟิล์มกรองแสงเหล่านี้มีราคาที่ค่อนข้างสูง และมีระยะเวลาใช้งานที่ยาวนาน

          – ค่าความเข้มข้นของสีฟิล์ม ควรเลือกใช้งานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มืดจนเกินไป และไม่ส่งผลต่อการขับขี่ของเรา เพราะฟิล์มบางชนิดติดแล้วสภาพแวดล้อมการมองเห็นจะมืดลงกว่าปกติ

          – ควรพิจารณาเลือกร้านหรือผู้ให้บริการติดตั้งฟิล์มรถที่มีความชำนาญ และราคาอยู่ในเรตที่เหมาะสม รวมไปถึงบริการหลังการขาย การรับประกันต่าง ๆ ด้วย